วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Up in the Air



วันที่เข้าฉาย 2010-02-25
แนวหนังดราม่า
ผู้กำกับเจสัน ไรท์แมน
นักแสดงจอร์จ ครูนี่ย์, Vera Farmiga, Anna Kendrick, Jason Bateman

จากฝีมือการกำกับของเจสัน ไรต์แมน ผู้กำกับที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง Juno มาพร้อมผลงานใหม่ Up in the Air เรื่องราวการเดินทางของไรอัน บิงแฮม (จอร์จ คลูนี่ย์ ดาราชายเจ้าของรางวัลออสการ์) เจ้าหน้าที่ลดจำนวนพนักงานองค์กร และนักธุรกิจยุคใหม่แสนเก่งที่ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา หนุ่มใหญ่ผู้ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเหมือนใช้ชีวิตอยู่บนเครื่องบินอย่างมีความ สุข แต่แล้วจู่ๆ เขากลับพบตัวเองพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์อย่างจริงจัง

ไรอันมีความสุขกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่มีพันธะที่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ อยู่ในอเมริกาตลอดเวลา ทำให้เขาต้องวนเวียนอยู่ในสนามบิน โรงแรม และขับรถเช่า เขาแบกทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ใส่กระเป๋าที่มีล้อเลื่อน เขาเป็นสมาชิกระดับหัวกะทิของทุกโครงการที่เกี่ยวกับการเดินทาง และเขากำลังเข้าใกล้เป้าหมายในชีวิตด้วยการสะสมไมล์ให้ถึง 10 ล้าน แต่…ไรอันไม่มีสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยวจิตใจเลย

เมื่อเขาเกิดตกหลุมรักเพื่อนนักเดินทางสาวที่มีเสน่ห์น่าคบหา (วีร่า ฟาร์ไมก้า) เจ้านายของไรอัน (เจสัน เบ็ทแมน) ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากผู้เชี่ยวชาญสาวรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง (แอนนา เคนดริค) ขู่จะเลิกส่งตัวเขาเดินทางไปทำงานแบบเดิมเป็นการถาวร เมื่อต้องเผชิญกับอนาคตที่อาจต้องปักหลักทำงานอยู่บนพื้นดินเหมือนชาวบ้าน ไรอันเริ่มพิจารณาถึงความหมายที่แท้จริงของการมี “บ้าน”

พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับโคลด์ สปริง พิคเจอร์ส และดีดับเบิลยู สตูดิโอส์ ผลงานการสร้างของมอนเตซิโต พิคเจอร์ โดยความร่วมมือกับริคชอว์ โปรดักชั่นส์ ร่วมกับไรต์ ออฟ เวย์ ฟิล์มส์ เรื่อง Up in the Air ซึ่งนำแสดงโดย จอร์จ คลูนีย์, วีร่า ฟาร์ไมก้า และแอนนา เคนดริค ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย เจสัน ไรต์แมน บทภาพยนตร์เป็นฝีมือการเขียนบทของเจสัน ไรต์แมน และเชลดอน เทอร์เนอร์ โดยนำเค้าเรื่องมาจากนิยายของวอลเตอร์ เคิร์น

ทีมผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์ เรื่องนี้ ได้แก่ ไอแวน ไรต์แมน, เจสัน ไรต์แมน, แดเนียล ดูบีคกี้ และเจฟฟรีย์ คลิฟฟอร์ด ทีมผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ ทอม พอลแล็ค, โจ เม็ดจัค, เท็ด กริฟฟิน และไมเคิล เบียกก์ ผู้กำกับภาพ ได้แก่ เอริค สตีลเบิร์ก, โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ได้แก่ สตีฟ แซ็กแล็ด, ผู้ทำหน้าที่ลำดับภาพ ได้แก่ ดาน่า กลาวเบอร์แมน, เอซีอี, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ แดนนี่ คลิคเกอร์, ดนตรีประกอบเป็นฝีมือการประพันธ์ของ โรลฟี่ เค้นท์, ทีมมิวสิค ซูเปอร์ไวเซอร์ ได้แก่ แรนดัลล์ โพสเตอร์ และริค คล๊าร์ก

ในภาพยนตร์สองเรื่องแรกของเขา เจสัน ไรต์แมน ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในเรื่องความสามารถในการนำเสนอตัวละครฮีโร่ ที่ไม่ใช่วีรบุรุษ อย่างเช่นนักล็อบบี้ในภาพยนตร์เรื่อง Thank You for Smoking และวัยรุ่นที่ตั้งท้องในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ เรื่อง Juno และบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ทั้งตลกและน่าสนใจ ซึ่งตัวละครเหมือนท้าทายความคาดหวัง เขายังคงสืบสานการสร้างสรรค์ตัวละครแบบเดียวกันนี้ด้วยการเล่าเรื่องราวของ ไรอัน บิงแฮม ผู้ซึ่งทำงานที่ไม่น่าชื่นชมนัก เพราะเขาต้องทำหน้าที่ไล่พนักงานออกเมื่อมีการลดขนาดองค์กร

แต่เรื่องราวของไรอันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายผู้ซึ่งเป็นที่รู้จัก เป็นชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ ดูน่านับถือ ผู้ซึ่งยอมรับในโลกแห่งความรวดเร็ว เทคโนโลยี ความสะดวกสบาย ความทะเยอทะยานส่วนบุคคล ชายผู้ใช้ชีวิตอย่างราบรื่น แสนเพลิดเพลิน ชายผู้มีทุกอย่างพร้อม แต่กลับพบว่ามีสิ่งสำคัญขาดหายไป เรื่องราวของเขาได้ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่น่าสนใจ นั่นก็คือในยุคแห่งการเดินทางทั่วโลก และการสนทนาผ่านเครื่องจักรกล พวกเราจะเข้าถึงความผูกพันที่แท้จริงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวค้ำจุนชุมชน อเมริกันเอาไว้ได้อย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นในเมื่อเราหลีกเลี่ยงมัน

คำถามเหล่านั้นซุ่มซ่อนอยู่ในใจกลางบทของภาพยนตร์เรื่อง Up in theAir ซึ่งหลังจากได้อ่านบทร่างแรกของ เชลดอน เทอร์เนอร์ แล้ว ไรต์แมนได้เดินไปสู่ทิศทางใหม่โดยเจาะลึกเข้าไปในเรื่องราวที่ว่า เรื่องของบิงแฮมสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันของพวกเราอย่างไร ในยุคแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการล่มสลายของการสื่อสาร

“ผมมองว่ามันคือเรื่องราวเกี่ยวกับชายที่ต้องรับมือกับความจริงที่ว่า ถึงแม้เขาจะคิดว่าชีวิตเขาสมบูรณ์แบบแล้ว แต่เขากำลังมองข้ามสิ่งสำคัญมากไป นั่นก็คือความรับผิดชอบของการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า” ไรต์แมนกล่าว “ไรอัน บิงแฮมหวาดกลัวที่จะเข้าร่วมในสังคมที่เขาล้มเหลวกับการค้นหาคุณค่าของมัน”

ไรต์แมนกล่าวต่อไปว่า “มันคือสิ่งที่ผมคิดว่าเรากำลังสำรวจกันในฐานะของสังคมปัจจุบัน พวกเราทุกคนกำลังใช้โทรศัพท์มือถือ และทวิตเตอร์ และการส่งข้อความ ดูเหมือนพวกเราเชื่อมต่อถึงกันมากกว่าแต่ก่อน แต่อันที่จริง คนเราไม่เคยได้มองจ้องตากันอีกแล้ว เรามีความสัมพันธ์ที่แท้จริงน้อยลง ชีวิตของไรอันในสนามบินคืออุปมาอุปไมยของสิ่งนั้น คุณสามารถเดินทางไปสนามบินทุกแห่งในโลก และรู้ทันทีว่าอะไรอยู่ตรงไหน ที่สนามบินมีร้านค้าเหมือนกัน ร้านอาหารเหมือนกัน มีหนังสือพิมพ์เหมือนกัน แต่ไม่มีที่ใดที่ดูเหมือนบ้านเลย เรามีความเหมือนกันทั่วทั้งโลกในแง่ที่ว่าเราได้สูญเสียความรู้สึกของชุมชน ท้องถิ่นไปแล้ว”

แรงบันดาลใจของไรต์แมนให้เกิดเป็น Up in the Air เริ่มต้นด้วยนิยายของวอลเตอร์ เคิร์น ซึ่งไรต์แมนใช้เป็นจุดเริ่มต้นของบทภาพยนตร์ที่ได้เริ่มต้นเส้นทางของมันเอง “หนังสือเล่มนี้พูดกับผมในหลายระดับด้วยกัน” ไรต์แมนบอก “ผมชอบภาษาของวอลเตอร์ซึ่งผมใช้บ่อยๆ แต่ขณะที่ผมกำลังเขียนบท ชีวิตผมเองก็เปลี่ยนแปลงไป ผมได้เจอภรรยาของผม มีความรัก และมีลูก และในระหว่างนั้น ไรอัน บิงแฮมก็เริ่มเติบใหญ่ และมองหาสิ่งอื่นมากขึ้นในชีวิต บทภาพยนตร์เรื่องนี้เติบโตจนกลายเป็นเรื่องที่บอกว่าความผูกพันมีความสำคัญ แค่ไหนในชีวิตประจำวันของเรา”

เคิร์นเล่าว่าเนื้อหาเรื่องราวในนิยายของเขาเกิดมาจากการเผชิญหน้าโดย บังเอิญ เขากำลังบินไปลอสแอนเจลิส เมื่อตอนที่เขาถามผู้ชายที่นั่งอยู่ข้างๆ เขาว่าเขาผู้นั้นมาจากไหน “เขาตอบว่า ‘อ๋อ ผมมาจากตรงนี้ อันที่จริงก็จากที่นั่งนี่แหละ’ เมื่อผมถามเขาว่าเขาหมายความว่ายังไง เขาบอกผมว่าเขาเคยมีอพาร์ตเม้นต์ แต่เพราะเขาต้องออกเดินทางปีละ 300 วันในหนึ่งปี เขาจึงแลกมันกับล็อคเกอร์เก็บของ และเรียกโรงแรมว่าบ้าน เมื่อผมย้ำถามเขาอีก เขาตอบว่า ‘รู้ไหม รอบๆ นี่มีผมอยู่เยอะมาก’ ผมรู้สึกเมื่อผมคุยกับเขาว่าเขาปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ของโลกที่ประกอบไป ด้วยสนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร กิ๊ฟท์ช็อป และร้านขายหนังสือแม็กกาซีน แต่ผมก็ยังรู้สึกด้วยว่าเขาต้องรู้สึกโดดเดี่ยวแค่ไหน”

และนั่นก็คือจุดกำเนิดของตัวละครหลักของเคิร์นอย่าง ไรอัน บิงแฮม ผู้ก้าวสู่อายุสี่สิบกว่าโดยไม่เคยมีสัมพันธ์ส่วนตัวที่แท้จริงกับใคร ผู้ใช้วันคืนของเขาด้วยการ “ปล่อยผู้คนให้จากไป”

‘อวตาร’ ชวดบทยอดเยี่ยม จากสมาคมนักเขียน

อุ่นเครื่องก่อนประกาศรางวัลออสการ์ “เดอะ เฮิร์ท ล็อคเกอร์” ซิวบทยอดเยี่ยมจากสมาคมนักเขียนอเมริกัน เฉือนเอาชนะคู่แข่ง “อวตาร”…

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่า สมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา หรือ ดับเบิลยูจีเอ (WGA) ประกาศผลรางวัลของสมาคม ก่อนหน้าการประกาศผลรางวัลออสการ์ อันทรงเกียรติของวงการภาพยนตร์ใน 7 มี.ค. นี้

โดยรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมตกเป็นของ “เดอะ เฮิร์ท ล็อคเกอร์” ภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์ 9 สาขา เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของหน่วยกู้ระเบิดในอิรัก เอาชนะคู่แข่งตัวเต็งอย่าง “อวตาร” ของเจมส์ คาเมรอนไปได้


ขณะที่รางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมตกเป็นของ “อัพ อิน ดิ แอร์” เรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ทำหน้าที่แจ้งข่าวร้ายให้ผู้อื่น นำแสดงโดยดาราดัง จอร์จ คลูนี่ย์

ที่มา : ไทยรัฐ